สนุกกับการวิเคราะห์คลื่นสมอง

บทความนี้ จะอธิบายถึงวิธีวิเคราะห์คลื่นสมองแบบเข้าใจง่ายๆ สําหรับมือใหม่อ่านเข้าใจได้ทันที

เวลาที่สมองทำงานจะเกิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งเราจะเรียกมันว่า

 "คลื่นสมอง"

คลื่นสมองมีความซับซ้อนมาก นักวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษาเรื่องสมอง พบว่าการใช้เครื่องมือแยกคลื่นเป็นช่วงต่างๆตามระดับความถี่ แล้วแสดงค่าแยกตามช่วงระดับ จะช่วยให้ศึกษาและเข้าใจการทำงานของสมองได้ง่ายขึ้น 
ภาพตัวอย่าง คลื่นสมองแยกออกมา 5 ช่วง เรียงจากความถี่สูงไปยังต่ำ

แต่ไหนแต่ไรมา ในการศึกษา นักวิทยาศาสตร์แบ่งหมวดหมู่คลื่นสมองมนุษย์ออกเป็น 5 กลุ่ม เรียงลำดับจากความถี่สูงไปต่ำ ดังนี้

ภาพการ์ตูนนั้นมิได้เกี่ยวข้องโดยตรงแต่ใช้เพื่อให้ช่วยในการจดจำสีของแต่ละคลื่นที่ถูกใช้ในกราฟที่ได้จากโปรแกรม mind monitor 

 คลื่นสมองระดับ แกมม่า  เกี่ยวข้องกับ "การรับรู้ที่เพิ่มขึ้น" หรือ "สภาวะจิตใจสูงสุด" เมื่อมีการประมวลผลข้อมูลของสมองจากส่วนต่างๆหลายๆส่วน ไปพร้อม ๆ กัน
  •  เกิดขึ้นเมื่อเรากำลังใช้ทุกอย่างของสมองและจิตใจในการผลักดันตนเองในการใช้ชีวิต เช่น ช่วงวินาทีที่สุดยอดนักกีฬาระดับโลกทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อสร้างสถิติใหม่, ช่วงวินาทีที่คนเรามีประสบการณ์เฉียดตาย, หรือ บุคลลที่จิตผ่อนคลายดำรงในสมาธิสม่ำเสมอและมีพลังของความรักอันไม่มีเงื่อนไขอยู่ในจิตใจ
  • คนทั่วไปต้องมีคลื่นนี้ในการประมวลการทำงาน แต่เฉพาะบางคนเท่านั้นที่จะมีสิทธิเข้าถึงคลื่นแกมม่าได้มากกว่าคนทั่วไป
คลื่นแกมม่าจะแรงขึ้นมาก และ ตรวจพบเจอได้มากขึ้นในผู้ปฏิบัติสมาธิมาเป็นเวลานาน รวมทั้งพระภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนา
คลื่นสมองระดับ เบต้า เกี่ยวข้องกับการตื่นตัวตามปกติ, การคิด, การตัดสินใจ, การจดจ่ออยู่กับงาน
  • คนที่มีความเครียดมาก อยู่ในภาวะเร่งรีบบีบคั้น ตื่นเต้นตกใจ อารมณ์ไม่ดี โกรธหรือดีใจมาก ๆ สมองจะมีการทำงานใน ช่วงคลื่นเบต้ามากเกินไป 
ในขณะที่หากไม่มีคลื่นเบต้าเกิดขึ้นเลย มนุษย์จะไม่สามารถเรียนรู้ หรือทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ ในโลกภายนอก
 คลื่นสมองระดับ อัลฟ่า เกี่ยวข้องกับการผ่อนคลายแบบยังอยู่ในภาวะที่รู้สึกตัว สภาวะนี้จะทำให้รับข้อมูลได้ดีที่สุด สามารถเรียนรู้ได้ดี เรียกความจำได้ง่ายและรวดเร็ว มีความคิดสร้างสรรค์  เป็นสภาวะที่จิตมีประสิทธิภาพสูง 
  • เป็นคลื่นที่ทำให้เป็นคนจิตใจสงบ เยือกเย็น สุขุม มีอารมณ์ดี เบิกบาน ความคิดสร้างสรรค์สูง สมาธิสูง มีความจำดี และมีพลังความคิดด้านบวกสูง มองโลกในแง่ดี
  •  มักพบใน ผู้ที่มีจิตสมดุล ผู้ที่นั่งสมาธิเป็นประจำ นักบวช พระสงฆ์ ผู้ปฏิบัติธรรม ผู้ที่กำลังมีความสุข ผู้ที่กำลังสวดมนต์ด้วยใจที่ศรัทธาตั้งมั่น
คลื่นสมองระดับ ธีต้า ส่วนใหญ่แล้ว จะตรวจพบได้อย่างมากเมื่อเราฝันในขณะหลับ แต่ยังสามารถพบเห็นได้ในระหว่าง: การทำสมาธิระดับลึก, ฝันกลางวัน, เมื่อเราทำงานที่เป็นไปโดยอัตโนมัติโดยที่จิตไม่ต้องใส่ใจ เช่น แปรงฟัน อาบน้ำ. 
  • คลื่นธีต้ามีความสัมพันธ์กับความจำระยะยาว ความคิดสร้างสรรค์ และจิตใจในสภาพที่ดี เป็นคลื่นที่เราสามารถดึงข้อมูลจากจิตใต้สำนึกได้ (subconscious mind)
คลื่นสมองระดับ เดลต้า จะมีมากที่สุดเมื่อเราจมดิ่งอยู่ในการนอนหลับพักผ่อนในสภาพที่ไร้ความฝัน นี่เป็นสภาวะที่ร่างกายกำลังพักผ่อนอย่างเต็มที่ มีการกระตุ้นการรักษาเยียวยาและฟื้นฟูร่างกายตนเอง

ถ้าเรียงคลื่นสมองจากซ้ายไปขวา ตามความถี่ต่ำ(หลับสนิท)ไปความถี่สูง(ตื่นตัวสุดขีด) จะเรียงดังนี้


แต่เดิมการศึกษาวิจัยคลื่นสมอง จะดูแค่ 5 ตัวหลักๆนี้ แต่พอเริ่มมีการศึกษาคลื่นสมองของนักบวช และ โยคี ที่ฝึกสมาธิขั้นสูง ก็มีการค้นพบว่ามีคลื่นสมองมนุษย์ที่มีความถี่สูงมากๆแบบสุดขั้วยิ่งกว่า แกมม่า ขึ้นไปอีก
จึงตั้งชื่อว่า "คลื่นสมองระดับไฮเปอร์แกมม่า"

และยังมีที่สูงกว่านั้นขึ้นไปอีก
ตั้งชื่อว่า “คลื่นสมองระดับแลมบ์ด้า” 

คลื่นสมองระดับไฮเปอร์แกมม่า และ แลมบ์ด้านี้ เป็นสภาวะที่ถูกพบในขณะทดสอบความสามารถของพระทิเบตบางนิกาย ที่สามารถนั่งสมาธิบนภูเขาหิมาลัยที่มีอุณหภูมิติดลบได้ โดยสวมใส่เครื่องนุ่งห่มเพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้นเอง และยังสามารถทำให้หิมะที่อยู่รอบๆตัวพวกเขาละลายได้ด้วย

และนอกจากนี้แล้วก็ยังมีคลื่นที่ต่ำสุดขั้วยิ่งกว่าเดลต้า ซึ่งก็คือ
คลื่น แอพซีลอน พบในโยคีซึ่งในระหว่างที่อยู่ในสภาวะนี้ เหล่าแพทย์ชาวตะวันตกจะไม่สามารถตรวจพบชีพจร, การเต้นของหัวใจ, และการหายใจ ของโยคีเหล่านี้ได้เลย


ทีนี้จะมาลงรายละเอียดเพิ่มเติมของคลื่นหลักทั้ง 5 ตัว ที่เราจะวัดค่าและวิเคราะห์ผลกัน ไล่จากความถี่สูงไปต่ำ

สำหรับคลื่นแกมม่า แม้จะสามารถวัดค่าออกมาได้ ในบทความนี้จะยังไม่กล่าวถึงเท่าไหร่เนื่องจากในการฝึกจิตและทำสมาธิเบื้องต้นที่ทดสอบอยู่นี้ แกมม่ามักจะเป็นค่าที่อยู่ต่ำสุดเสมอ ไม่ได้มีผลในเชิงเปรียบเทียบ
ในโลกทุกวันนี้ผู้คนส่วนใหญ่ ตกอยู่ในสภาวะที่คิดฟุ้งซ่าน เครียด กังวลมาก สมองมีช่วงคลื่นเบต้าสูงเกินไป สภาวะนี้สมองจะหลั่งฮอร์โมนด้านลบ ออกมามาก นำไปสู่ ปฏิกิริยาเคมีที่ทำร้ายส่วนอื่น ๆ ของร่างกายเป็นลูกโซ่ต่อไปเรื่อยๆ

ช่วงคลื่นอัลฟ่า ซึ่งเป็นการผ่อนคลาย สภาวะที่จิตสมดุล อยู่ใน สภาวะสบายๆ มีการช้าลงด้วย การใคร่ครวญ ไม่ด่วนตอบสนองต่อสิ่งเร้าด้วยอารมณ์อันรวดเร็ว อัลฟ่ามีความถี่น้อยลงกว่าเบต้า ซึ่งมีผลให้ เราจะคิดช้าลง แต่เป็นจังหวะ เป็นท่วงทำนอง คมชัด ให้เวลาแก่จิตในการไตร่ตรองและมีความคิดเป็นระบบมากขึ้น   
อัลฟ่าเป็นคลื่นที่อยู่ตรงกลางระหว่างคลื่นความถี่ต่ำและสูง จะเป็นประตูจากความฟุ้งซ่านความเครียด ไปสู่ การทำสมาธิในระดับลึก เราสามารถฝึกฝนตนเอง บ่มเพาะให้มีคลื่นสมองชนิดนี้เข้มแข็งขึ้น โดยการฝึกสมาธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกฝนจิตให้ตื่นรู้ เช่นเดียวกันกับแนวทางการฝึกฝนปฏิบัติธรรม ในพุทธศาสนา  

เมื่อเข้าสมาธิขั้นลึก คลื่นธีต้านี้จะเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ภายในที่สะท้อนการทำงานของจิตใต้สำนึก และการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ขั้นลึกที่สุด
และหากเป็นสมาธิที่ลงลึกยิ่งขึ้นไปอีก คลื่นเดลต้า จะเกี่ยวข้องกับการบำบัดรักษาโรค, การหายจากความเจ็บปวดทางจิตใจ, การเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล (สมาธิ), ประสบการณ์เฉียดตาย และอาการโคม่า
ซึ่งในระหว่างที่อยู่ในจิตสำนึก/ความตระหนักรู้ระดับเดลต้านี้ ปกติแล้วพวกคุณจะ “ไม่รับรู้” ความเป็นไปของโลกแห่งความเป็นจริงทางกายภาพเลย



ภาพกราฟที่ได้จากการวัดคลื่นสมองเค้าเรียกกันว่า อีอีจี (EEG-electroencephalogram)

ภาพประกอบจาก simplypsychology.org

โดยปกติแล้ว อุปกรณ์วัดคลื่นสมองมีราคาแพงมากและมีความซับซ้อนในการใช้งานสูง แต่ ณ ปัจจุบันมีเครื่องที่ราคาต่ำ ใช้ไม่ยาก สามารถซื้อหามาลองใช้งานวัดเล่นๆเองได้

ในบทความนี้จะใช้เครื่อง muse S และใช้แอพ Mind Monitor เพื่อบันทึกและแสดง EEG โดยจะเน้นแนะวิธีอ่านกราฟคลื่นสมองแบบเข้าใจง่ายๆ อิงกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในจิต (ส่วนรายละเอียดในส่วนเครื่องมือเหล่านี้ที่ใช้อ่านได้เพิ่มเติมได้ที่ บทความ ประสบการณ์การใช้ muse S วัดคลื่นสมอง)
Muse S

Mind Monitor

อุปกรณ์ที่ใช้นี้ สามารถวัดค่า คลื่นสมอง 5 ตัวหลักดังนี้


ตัวอย่าง EEG ที่ได้ออกมาจากอุปกรณ์นี้จะแสดงผลดังนี้ (ซึ่งโดยปกติถ้าไม่ได้ปรับอะไรเพิ่มเติม จะเป็นค่าเฉลี่ยต่อนาที) กราฟจะแสดงผลออกมา เป็นเส้น 5 สี แต่ละสีเป็นตัวแทนของช่วงคลื่นหลักทั้ง 5 ที่เรากำลังศึกษาอยู่
แกนแนวนอนเป็น เวลา
 แนวตั้งเป็น เปอร์เซนต์เดซิเบล
แต่เพื่อความง่ายในที่นี้ จะใช้ภาษาง่ายๆว่า ณ เวลาใดมีค่าเท่าไร
 เช่น ณ ตอนเริ่มต้น เวลา 8:45
  ค่าเดลต้า มีค่า 92 
 ค่าอัลฟ่า มีค่า 78
เวลาผ่านไป(จากซ้ายไปขวา) ค่าเดลต้าลดลงเรื่อยๆ จุดสุดท้ายที่เวลา 8:59 ค่า delta เหลือ 56


ตัวอย่างลองวิเคราะห์คลื่นสมองผ่านกราฟที่ได้จาก mind monitor

คลื่นสมองของแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน ณ ที่นี้ข้าพเจ้าจะใช้คลื่นสมองที่วัดด้วยตนเอง  สิ่งที่มาจากประสบการณ์ตรงของตนเองน่าจะทำให้วิเคราะห์บางอย่างได้ง่ายขึ้น 

กราฟคลื่นสมองในสภาวะทั่วๆไปอาจจะดูพัวพันกันไปมายุ่งเหยิงตีความไม่ออก แต่ในกรณีที่สมองเริ่มเข้าร่องเข้ารอยอยู่ในรูปแบบบางอย่างเป็นช่วงเวลานานเราจะสามารถสังเกตเห็น "แพทเทิร์น" (pattern-รูปแบบ) ของกราฟ ที่แตกต่างกันไปชัดเจน อย่างเช่น ขณะที่ หลับสนิท หลับฝัน นั่งสมาธิ

จากการที่ลองวัดค่า ครั้งแล้วครั้งเล่าของข้าพเจ้าเอง เมื่อใดที่นั่งหลับตาทำสมาธิจดจ่อ(ไม่ว่าจะอยู่กับลมหายใจหรือร่างกายหรือความคิด)จะได้ผลกราฟแพทเทิร์นประมาณนี้
อัลฟ่าจะเด่นขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 80 กว่าๆ , อีกสามคลื่นจะไปกองพัวพันกันอยู่แถว 50,  แกมม่าลงไปกองอยู่ที่ 30 (ส่วน gamma ในบทความนี้จะอยู่ล่างสุดเสมอจึงจะไม่กล่าวถึงอีก)

พอทดสอบบ่อยๆบันทึกข้อมูลไว้เยอะๆเข้า เริ่มสังเกตได้ละเอียดขึ้นไปอีก ว่าความต่างเล็กๆน้อยๆในส่วนคลื่นทั้ง 3 ที่เกาะกลุ่มกันตรงกลาง ใช้บ่งบอกสภาพภายในการทำสมาธิได้ด้วย คือ

เมื่อเริ่มง่วงเล็กน้อย เดลต้า(แดง) จะสูงขึ้นมากว่า อีก 2 ตัว 
มีความง่วงนิดหน่อยขณะนั่งสมาธิ

ยิ่งง่วงมาก เดลต้า(แดง) ยิ่งสูงมาก จะล้ำเกิน แอลฟา(ฟ้า) ไปได้

ช่วงต้นนั่งสมาธิธรรมดา 
ในช่วงท้ายมีความง่วงสุดๆในขณะนั่งสมาธิ 
กรณีที่เรานั่งสมาธิหากเรานั่งด้วยการจดจ่ออยู่ที่การจงใจคิดอะไรบางอย่าง (แทนที่จะรู้ลมหายใจหรือร่างกาย) เบต้า (เขียว)ก็จะเด่นขึ้นมากว่าอีก 2 ตัว
นั่งหลับตาคิดจดจ่อเรื่องบทความที่จะเขียน

สรุปแพทเทิร์นหลับตานั่งสมาธิ
เมื่อเทียบเฉพาะ 3 คลื่นที่อยู่ตรงกลาง
  • ถ้า เธต้า(ม่วง) เด่นสุด คือ จดจ่อรู้รูปธรรม (ลมหายใจ, ร่างกาย) แบบผ่อนคลาย
  • ถ้า เบต้า(เขียว) เด่นสุด คือ จดจ่อรู้ความคิด
  • ถ้า เดลต้า(แดง) เด่นสุด คือ ง่วง
ป.ล. ค่าเดลต้า 
  • ในกรณีนั่งหลับตานิ่ง, เดลต้า สูง บ่งชี้ถึงความง่วงได้
  • ในกรณีเคลื่อนไหว, ยิ่งเคลื่อนไหวมากเดลต้าตายิ่งสูง

ทำแบบฝึกหัดเล่นกันดู
 ลองวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้นขณะนั่งสมาธิที่ได้ผลกราฟเป็นแบบนี้ออกมา

เฉลย:

จดจ่อรู้แบบคิดบ้างผ่อนคลายบ้างสลับกันไปในช่วงต้น เริ่มง่วงนิดๆช่วงกลาง และค่อยๆง่วงมากขึ้นเรื่อยๆ


สำหรับแพทเทิร์นคลื่นสมองนั้น ได้มีฝรั่งที่ศึกษาเรื่องการทำสมาธิได้รวบรวมออกมาไว้ดังนี้

ข้อมูลนี้ เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ Raising Our Vibration: A Guide to Subtle Energy Meditation ที่เขียนร่วมกันของคุณ Kevin Schoeninger และ Stephen Skelton


จะเห็นว่าแพทเทิร์น"การนั่งหลับตาทำสมาธิ" ที่เรารวบรวมและวิเคราะห์นั้นตรงกับ "การหายใจเอาความรักผ่านหัวใจ" ที่ฝรั่งทำไว้

แต่นอกจากนี้เราก็ยังเห็นว่ามีแพทเทิร์นอื่นๆที่เราได้เจอในกรณีต่างๆ ที่ต่างไปจากนี้ ซึ่งก็จะค่อยๆรวบรวมเรียบเรียงในบทความต่อๆไป

สำหรับบทความนี้เป็นการนำพาให้ผู้อ่านเข้าใจในเบื้องต้น ถ้าอ่านหน้านี้รู้เรื่องแล้วก็หวังว่าน่าจะสามารถอ่านบทความอื่นได้รู้เรื่องต่อไป

เรื่องน่าอ่านที่ได้เขียนไว้
วิเคราะห์กราฟคลื่นสมอง

จบเนื้อหา
แถมเรื่องชวนคิด (หรืออาจจะชวนปวดหัวสำหรับบางท่าน)

ดูคลื่นในยามหลับและยามนั่งสมาธิเทียบกัน เหมือนว่าคลื่นสมองต่างๆจะมีการแบ่งระดับที่ค่อนข้างคงที่ อยู่กันแบบเป็นชั้นๆ 
แล้วพอเอาหลับสนิทมาเทียบกับการเดินจงกรม(ที่ใจว่างๆ)ปรากฏว่าขึ้นมีการเรียงลำดับคลื่นที่เหมือนกันเปี๊ยบแต่กราฟมีการยกระดับชั้นพลังงานขึ้นไปสูงกว่าเดิมทุกคลื่น
การที่สมองมีแพทเทิร์นคงตัว ที่แบ่งระดับเป็นขั้นๆ นั้นว่าไปแล้วก็ทำให้นึกถึง ลักษณะแบบจำลองอะตอมตามทฤษฎีของนีลส์โบร ที่เคยเรียนตอน ม.ปลาย ที่ว่า อิเล็กตรอนจะเคลื่อนที่รอบนิวเคลียสเป็นชั้นๆ ตามระดับพลังงาน  และแต่ละชั้นจะมีพลังงานเป็นค่าเฉพาะตัว ... 
ภาพจาก thoughtco.com

เจ้าคลื่นสมองในหัวของเราก็ดูเหมือนว่ามีการทำงานที่ให้ผลลัพธ์เป็นชั้นๆเฉพาะตัว ถ้าวิเคราะห์ให้ดีอาจจะสร้างเป็นทฤษฎีคลื่นสมอง ที่ช่วยให้เข้าใจและศึกษาสมองและสภาวะทางจิตได้ดีขึ้นก็เป็นได้


ที่มา
ภาพตัวการ์ตูน towerofsaviors.fandom.com
รายละเอียดของคลื่นสมองแต่ละคลื่น https://www.novabizz.com/NovaAce/Physical/Brainwave.htm

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประสบการณ์การใช้ muse S วัดคลื่นสมอง

การคิดคะแนนของ Muse

ว่าด้วยเรื่องการเดินจงกรม

บันทึกประจำวันคลื่นสมองด้วย muse ผ่านแอพ mind monitor