ว่าด้วยเรื่องการเดินจงกรม

รวบรวมกราฟคลื่นสมองที่เกิดขึ้นในขณะเดินจงกรมมาวิเคราะห์
ภาพจาก hippopx

18 ส.ค.2564

เดินจงกรม 66 นาที วันนี้อดข้าว แต่ช่วงเดินก็ไม่ค่อยรู้สึกหิวเท่าไหร่ ก็ทั้งรู้ฟุ้งรู้สงัดสลับกันไป แต่คราวนี้เหมือนความเงียบสงัดงัน(จากความคิด)เยอะขึ้นแล้วผัสสะรับรู้สึกถึงความว่างรอบนอกมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงกำลังกลับตัว ซึ่งช่วงสงัดนั้นจะมีความ รู้สึกอิ่มใจ รู้สึกพอ อยู่ข้างใน

วิเคราะห์:
เมื่อเอากราฟข้าพเจ้าตอนหลับสนิทมาเทียบกับการเดินจงกรมครั้งนี้ปรากฏว่ามี pattern การเรียงลำดับคลื่นที่เหมือนกัน แต่กราฟตอนเดินมีการยกระดับชั้นพลังงานขึ้นไปสูงกว่ากราฟตอนนอนทุกคลื่น

19 ส.ค. 2564

9:55 - เดินจงกรม 66 นาที แต่เครื่องวัดมาได้แค่ 55 นาทีแล้วหยุดทำงาน ขณะเดินช่วงกลางๆง่วงรุนแรงมาก เวลาหยุดปลายทางเดินจะหมุนกลับตัว ถ้าเผลอนิ่งแป๊บเดียวตาที่มันหนักจะเผลอหลับตาเอง แล้วใจไหลไปอยู่ในสภาวะที่เป็นความฝันไปชั่วแป๊บนึง ลืมตามาแล้วก็เดินง่วงๆต่อกลับไปกลับมา อยู่อย่างนี้ แต่ช่วงปลายๆก็ง่วงน้อยลง (คาดว่าช่วงที่ theta สูงล้ำกว่า alpha เป็นช่วงที่ง่วงมาก)
14:40 - ตั้งใจเดินจงกรม 1 ชั่วโมงแต่เดินได้ 29 นาทีแล้วฝนตก ขณะเดินตื่นตัวดี ไหลไปในความคิดเยอะแต่ก็หลุดออกมาจากความคิดมาเห็นความคิดที่ดับไปได้เป็นระยะ

วิเคราะห์: กราฟทั้งสองอันของวันนี้มี pattern มีส่วนคล้ายที่ใน หนังสือ Raising Our Vibration เรียกว่าเป็น "ความสุขสงบ" แต่จากประสบการณ์ของเราในการเดินจงกรมที่ผลออกมาเป็นกราฟมี pattern ลำดับสีอย่างนี้ ก็ไม่ได้รู้สึกว่าสุขสงบเป็นพิเศษแต่ก็เห็นร่างกายเคลื่อนไหวและกระบวนการของความคิดได้ละเอียดกว่าที่เห็นในชีวิตประจำวัน  หากเทียบกับกราฟแรก (18 สิงหาคม) ที่ซึ่งมี pattern คล้ายเวลาหลับสนิท อันนั้นมีความสุขที่ละเอียดอ่อนกว่า และ มีความสงบสงัดภายในมากกว่า

20 ส.ค. 2564

เดินจงกรม 65 นาที
ฟุ้งบ้าง ง่วงบ้าง ตื่นตัวบ้าง ปนกันไป ช่วงแรกง่วงเยอะหน่อย ส่วนช่วงหลังตื่นตัวและรู้ความว่างได้เยอะหน่อย
วิเคราะห์: กราฟวันนี้ ช่วงต้นที่ง่วงๆ มีสภาพแบบ"ความสุขสงบ", ส่วนช่วงหลังที่เริ่มตื่นตัวรู้ความว่างรอบๆ นั้น delta เริ่มลงมาพัวพันกับ alpha ส่วน theta แยกชั้นลงไป ดูเหมือนว่าเริ่มเข้าสู่ pattern "หลับสนิท" 

21 ส.ค.2564

เดินจงกรม 1 ชั่วโมง ฟุ้งสุดขีดปล่อยฟุ้งไปเลยรู้สึกตัวได้บ้างเล็กน้อยเป็นระยะแต่ก็ถือว่าตื่นตัวดีไม่ค่อยมีง่วงซึม

22 ส.ค. 2564

10:00 - เดินจงกรมชั่วโมงกว่าเครื่องวัดมาได้ 55 นาที  ช่วงเริ่มเดินรู้สึกใจเบาสบายตื่นตัว เดินไปเดินมาบางช่วงนี้ง่วงนิดหน่อย ช่วงหลังๆใจไหลไปฟุ้งในธรรม ไปคิดตรึกตรองเรื่องอริยสัจ 4

วิเคราะห์: จากที่สังเกตการเดินจงกรมหลายครั้งเริ่มเห็น pattern ที่เกิดยามเดินจงกรมของตนเอง แล้วว่า
  • แอลฟ่า(ฟ้า)มักจะคงตัวอยู่ที่ประมาณ 90
  • เดลต้า(แดง) และ เธต้า(ม่วง) มักเคลื่อนตัวขนานกันไปไม่ลงมาพัวพันกัน
  • ดังนั้นจะมีกราฟเกิดขึ้น 3 รูปแบบคือ
  1. เวลาที่เดลต้า(แดง)เคลื่อนตัวลงมาพัวพันกับแอลฟา(ฟ้า) -pattern คล้ายขณะเวลาหลับ- จะเป็นช่วงที่ใจมีแนวโน้มตื่นโปร่งโล่งเบาสบายว่างสงบ
  2. เวลาที่เธต้า(ม่วง)เคลื่อนตัวขึ้นไปพัวพันกับแอลฟา(ฟ้า) มักจะเป็นช่วงที่ฟุ้งแรงหรือง่วงแรง
  3. เวลาที่ทุกคลื่นแยกชั้นจากกันโดยเด็ดขาดไม่ได้มาพัวพันกัน -pattern สุขสงบ- มักจะเป็นช่วงตื่นตัวตามปกติ
14:55 - เดินจงกรม 73 นาที ครั้งนี้ตื่นตัวมากไม่มีง่วงเลย  เวลาที่เดินสุดทางเดินแล้วหยุดเพื่อกลับตัวจะรับรู้ความว่างได้บ่อยกว่าปกติมาก เมื่อเห็น"ความว่าง" สลับสับเปลี่ยนกับ "ใจที่เผลอคิด" และ "ใจที่เพ่งจ้อง ใจที่พยายามบังคับให้รู้อยู่ที่กายเพื่อพยายามไม่ให้ตัวเองคิด" ... แม้จะเคยเห็นแล้วเห็นอีกจากการปฏิบัติสะสมผ่านวันเวลามาเนิ่นนาน แต่มันก็ยากที่จะอธิบาย พอได้เห็นบ่อยๆซ้ำๆย้ำๆทำให้สังเกตเห็นความต่างระหว่าง "จิตที่เจตนาจะปฏิบัติเพ่งจ้อง" กับ "จิตที่ว่างแค่รู้เฉยๆโดยไม่ได้มีเจตนาที่จะทำอะไร" ได้ชัดขึ้นเรื่อยๆ จนพอที่จะสามารถอธิบายออกมาได้ดังนี้
  • จิตที่มีเจตนาจงใจที่จะปฏิบัติ มีความดิ้นรน มีความทุกข์เกิดขึ้น มีความรู้สึกถึงทุกข์อันละเอียดอ่อนลึกซึ้ง(ถ้าไม่มีจิตอีกแบบมาให้ได้รู้ได้สังเกตเปรียบเทียบก็คงจะไม่สามารถสังเกตเห็นทุกข์แบบนี้ได้) มีความหนักๆอึดอัดแน่นๆเกิดที่ในหน้าอกและในหัว
  • จิตที่ระลึกรู้ขึ้นมาเองโดยไม่ได้เจตนา ไม่มีความดิ้นรน แค่รู้ซื่อๆเฉยๆ มีความโปร่งโล่งเบาสบาย  ในใจมีความอิ่มความพอ  มันเป็นความรับรู้ในปรากฏการณ์ธรรมชาติธรรมดาที่เราเคยชินที่จะมองข้ามไป มันรู้กายรู้ใจ และยังรับรู้ถึง ทั้ง ความว่างของบรรยากาศและพื้นที่รอบตัว และ ทั้งความว่างจากกระบวนการปรุงแต่งความคิดในใจ ไม่มีความทุกข์แบบที่เกิดขึ้นในตอนเจตนาที่จะปฏิบัติ   ความตื่นรู้เฉยๆนี้มีความละเอียดอ่อนล้ำลึกกว่าปิติและสุข เพราะมันมีความทุกข์น้อยยิ่งกว่าความสุขอื่นทั่วไปที่เคยสัมผัส

และในระหว่างเดินจงกรม สมองก็เกิดการคิดประมวลผลจับเอาประสบการณ์ตรงอันนี้วิเคราะห์เข้ากับอริยสัจ 4 ดังนี้
  • ในขณะที่ใจมีความเจตนาจงใจปฏิบัติเกิดขึ้น เป็นกระบวนการที่มาพร้อมขณะกับการที่มีความยึดถือว่าใจเป็นเรา ความจงใจอันนี้มันมีความเป็น perfectionist หรือผู้นิยมความสมบูรณ์แบบ มันพยายามจะเข้าไปบังคับบัญชาบงการจัดการทำอะไรบางอย่างเพื่อทำให้ใจที่มันยึดถือว่าเป็นเรานั้นสงบ ด้วยการเพ่งกายเพ่งใจ  เพื่อไม่ให้หนีไปสู่ความเผลอฟุ้งซ่าน แต่ผลจากความพยายามอันนี้กลับทำให้ใจดิ้นรน ไม่สงบ มันทำให้เกิดความฟุ้งและความหนักขึ้นในใจ เกิดรู้สึกเป็นความทุกข์ - อุปาทานขันธ์5 (ความยึดถือในกายและใจ) คือ ทุกข์
  • เหตุที่ทำให้เกิดความจงใจของใจที่นิยมความสมบูรณ์แบบคือ "ความอยาก" อันได้แก่ อยากมีจิตใจที่สมบูรณ์แบบ อยากสงบ อยากพ้นทุกข์ อยากบรรลุธรรม อยากเป็นอะไรบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ใช่สิ่งที่เป็นในปัจจุบันขณะ - ตัณหา(ความอยาก) คือ สมุทัย(ต้นเหตุแห่งทุกข์)
  • แต่ความอยากก็ไม่ใช่สิ่งที่คงทนถาวร มันก็มาๆไปๆตามธรรมชาติ ในชั่วขณะที่ความอยากหายไปหากเกิดมีสติระลึกรู้ที่มันเป็นไปเองของมันเองโดยอัตโนมัติไม่ได้มีเจตนาของเราเกี่ยวข้อง เป็นชั่วขณะที่รู้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะแบบตื่นตัวซื่อๆตรงๆ ไม่มีการให้ค่าว่าชอบหรือไม่ชอบ ไม่ได้มีความยึดถือว่าปรากฏการณ์ที่เกิดในกายในใจเป็นเรา มันรู้กายรู้ใจ รู้ความว่างภายในและความว่างภายนอก ความว่างที่เป็นรูปธรรมและความว่างที่เป็นนามธรรม ว่างจากความจงใจปฏิบัติ ว่างจากทุกข์อันเกิดจากความจงใจปฏิบัติ -เมื่อตัณหาที่เป็นต้นเหตุของทุกข์ดับไป ก็คือ นิโรธ(ความดับทุกข์)
  • กระบวนการที่การ รู้ทุกข์ ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดขึ้นพร้อมๆกันทั้ง 3 ตัว ก็คือกระบวนการเจริญมรรค(แนวปฏิบัติที่นำไปสู่ความดับทุกข์)
ป.ล.
  1. นี่เป็นเพียงความคิด ที่ซึ่งเรียบเรียงเอาประสบการณ์ตรงจากการปฏิบัติไปประมวลผลเข้ากับสิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังมาจากพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ครูบาอาจารย์มากมายหลากหลายท่าน  และเนื่องจากเป็นความคิด มันอาจจะถูกหรือผิด อาจจะตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ตรง ก็เป็นได้ทั้งนั้น
  2. ตัวชี้วัดลำดับขั้นในการบรรลุธรรมทางพุทธศาสนาคือการละสังโยชน์  ในขณะที่ทำการเดินจงกรมและคิดในสิ่งที่กล่าวมานี้ ไม่ได้รู้สึกว่ามีการเกิดขึ้นของการละสังโยชน์ ถึงหัวจะคิดได้แต่ใจยังโง่อยู่  ความเผลอใจหลงยึดถือในขันธ์ว่าเป็นเราก็ยังคงมีวนเวียนอยู่  จึงไม่ใช่การบรรลุธรรมแต่อย่างใด - ต้องบอกกล่าวตรงนี้ไว้ให้ชัดเจนเพื่อกันคนเข้าใจผิด เพราะพระวินัยบัญญัติไว้ว่าการที่พระอวดอุตตริมนุสสธรรมที่มีในตนแม้เกิดขึ้นจริงให้โยมฟัง ผิดศีลของพระภิกษุ (แต่สำหรับพระอรหันต์ที่ถึงธรรมจริงๆก็เป็นอีกเรื่อง)

23 ส.ค. 2564

เดินจงกรม 65 นาที ส่วนใหญ่ตื่นตัวตามปกติมีง่วงเป็นบางช่วงไม่ได้รู้สึกถึงความว่างเยอะเป็นพิเศษเหมือนครั้งก่อน

25 ส.ค. 2564

เดินจงกรม 42 นาที ตื่นตัวธรรมดา ฟุ้งไปคิดเรื่อง eneagram บ้าง  เครื่องวัดคลื่นสมองมีปัญหา 2 ช่วงแต่ถ้าไม่นับช่วงมีปัญหาก็พอดูแพทเทิร์นได้อยู่

26 ส.ค. 2564

เดินจงกรมง่วงแต่ก่อนเดิน เดินแบบงงๆ ตั้งใจเดิน 1 ชั่วโมง จะเดินไปเดินมาเผลอหลับในทุกครั้งที่หยุดตัว พอ 15 นาทีเกือบจะล้มหัวคะมำทั้งยืนจึงหยุดเดิน
27 ส.ค. 2564
เดินจงกรม 103 นาที
เริ่มต้นอยู่กับความฟุ้งซ่านเยอะแล้วก็เริ่มง่วงก็ดูง่วงไปฟุ้งไปความง่วงก็เริ่มจางคลาย รู้สึก appreciated กับความสุขที่มาพร้อมลมหายใจเข้าที่สเชื่น ชื่นชมสายลมแสงแดดธรรมชาติรอบตัว แต่ไปๆมาๆ ก็มาง่วงอีกแต่ก็แปลกที่ทั้งง่วงและพิเศษสลับไปสลับมาอยู่ด้วยกันได้ ดูฟุ้งไปว่างไป ความง่วงก็ไปๆมาๆผ่านมาผ่านไป

29 ส.ค. 2564

เดินจงกรม 131 นาที 
 ตั้งเวลาให้มีเสียงระฆังดังทุก 10 นาที (จากนี้จะเรียกแต่ละช่วงของ 10 นาทีว่าแต่ละคิว)  ก็ตั้งใจว่าจะรู้ความง่วงดูความง่วงที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆทุกคิว จดจำสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละคิวไว้ในใจเพื่อจะนำมาบันทึกวิเคราะห์กราฟเมื่อเสร็จจากเดินจงกรม ... คิว1 ง่วงนิดๆ แต่พอสังเกตและจดจำและเปรียบเทียบความง่วงที่เกิดในแต่ละขณะที่มันผันแปรเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ก็เริ่มตื่นตัวตอนคิว 2 พอคิว3 เป็นความตื่นตัวที่มากกว่าปกติแบบแปลกๆเสียวๆ รู้สึกถึงพลังงานอันละเอียดอ่อนที่วิ่งในกาย โดยเฉพาะปลายมือและกลางหัว บางทีหยุดตัวรู้สึกถึงหัวใจที่กำลังเต้น(ในอัตราที่น่าจะธรรมดาไม่ได้แรงเร็วหรือช้ากว่าปกติ)และเส้นเลือดที่กำลังตึบๆทั่วกาย

เดิมตั้งใจจะเดินแค่ 1 ชั่วโมงแต่เนื่องจากตื่นตัวมากเป็นพิเศษจึงเดินต่ออีก 1 ชั่วโมง


 คิว8 เริ่มมีง่วงผุดขึ้นมาให้เห็นนิดนึงแล้วหายไปแต่จากนั้นก็ตื่นแรงกว่าปกติตลอด พลังงานแผ่ซ่านที่เคยเด่นที่สุดที่มือและหัวก็เริ่มเคลื่อนตัวไปเด่นที่อื่นบ้างเช่นที่ปากและฟัน  จนคิวสุดท้ายเริ่มคลายความตื่นตัวลงมาหน่อยนึงรู้แบบธรรมดาๆมากขึ้น แต่ก็ยังถือว่าตื่นตัวกว่าภาวะปกติของเรา

ข้อสังเกต ความแตกต่างของกราฟนี้กับการเดินจงกรมครั้งอื่น คือ ปกติเวลาเดินจงกรม แกมม่าจะนอนเนื่องค่อนข้างเรียบอยู่ที่ 40 แต่คราวนี้เกิดการกระเพื่อมของแกมม่าเป็นพิเศษ และคลื่นอื่นๆก็กระเพื่อนเข้าจังหวะกับการกับเพื่อมของแกรมม่า , ปกติเบต้า นอนเนื่อง 60 กระเพื่อมไปถึง80, ปกติแอลฟ่า 80 กระเพื่อมไปเกิน100

แล้วตอนปลายแกมมาตกลงมาต่ำกว่า 40 (คาดว่าช่วงที่เริ่มกลับมาง่วงนิดนึงก่อนจะตื่นตัวอีกรอบ) อันอื่นก็ drop ลงมาด้วย





ป.ล. หากในวันข้างหน้ามีบันทึกและวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับการเดินจงกรมเพิ่มเติมก็จะเอามาใส่ไว้ในหน้านี้ ว่าด้วยเรื่องการเดินจงกรม

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประสบการณ์การใช้ muse S วัดคลื่นสมอง

สนุกกับการวิเคราะห์คลื่นสมอง

การคิดคะแนนของ Muse

บันทึกประจำวันคลื่นสมองด้วย muse ผ่านแอพ mind monitor