ความต่างระหว่าง ความรู้สึก กับ สิ่งที่วัดก็ออกมาได้จริง


จากที่ได้ลองใช้เครื่องวัดคลื่นสมองมาเป็นเวลากว่า 2 เดือน คอยดูผลและเก็บค่าสถิติมาวิเคราะห์ อยู่เรื่อยๆ จนเริ่มคุ้นชินว่าเวลาเรามีประสบการณ์ภายในแบบไหน จะได้ผลลัพธ์กราฟคลื่นสมองที่มีรูปร่างแพทเทิร์นเป็นแบบใด

วันนี้ตอนตื่นนอนเช้ามืด เอาเครื่องวัดคลื่นสมองมาวัดระหว่างการนั่งสมาธิ ตั้งใจดูลมหายใจไปตามปกติ

 รู้สึกว่าการนั่งครั้งนี้เผลอไผลหลงไปอยู่ในความคิดยาวนาน  แต่ละครั้งกว่าจะมีสติระลึกรู้ตัวขึ้นมาว่าหลงไปคิดจนลืมดูลมหายใจนานมาก พอกลับมาดูลมหายใจต่อได้แค่ประมาณสองสามลมหายใจก็หลงไปใหม่ อีกพักใหญ่ๆกว่าจะระลึกรู้ได้อีก วนไปมาอยู่อย่างนี้ตลอด 38 นาที  

 พอเลิกนั่งก็คาดเดาว่ากราฟคงเป็นแพทเทิร์นการนั่งสมาธิที่มีค่า delta(สีแดง)  และ theta(สีม่วง) สูง เพราะหลงไปเยอะ แต่พอดูกราฟปรากฏว่าผลเป็นแพทเทิร์นนั่งสมาธิปกติธรรมดาเลย 

ถ้าเป็นความคิดที่อยู่ในระดับที่ไม่ทำให้ถึงกับง่วง ไม่ได้มีความพอใจหรือไม่พอใจในระดับที่สังเกตเห็นได้มากับความคิดเหล่านั้น ตราบเท่าที่ยังพอจะรู้ลมหายใจได้บ้างเป็นระยะแม้ว่าจะหลงนาน รู้น้อย ระลึกรู้ได้แค่นิดๆหน่อยๆ ซึ่งถ้าหากไม่มีการวัดคลื่นสมองเราก็คงคิดเอาเองว่านั่งสมาธิครั้งนี้ไม่ได้เรื่อง แต่ทว่าผลลัพธ์ที่ออกมาปรากฏว่าสมองก็ยังคงแสดงผลคลื่นออกมาว่าแทบไม่ต่างกันเลยกับตอนที่กำลังทำงานอยู่ในโหมดสมาธิที่โฟกัสอยู่กับลมหายใจได้นานๆ 

เดาว่าเมื่อสมองทำงานในโหมดนี้ ซึ่งจะมีผลในการพัฒนาศักยภาพทางจิตและมีผลพลอยได้ที่ดีต่อสุขภาพทางกาย ... ตราบเท่าที่ยังตั้งใจทำสมาธิต่อไป(แบบไม่ง่วงและไม่เครียด)ไม่ว่าเราจะรู้สึกว่าสงบหรือฟุ้ง สมองก็ยังคงอยู่ในโหมดนี้

นึกถึงคำของครูบาอาจารย์ที่มักบอกว่าในการปฏิบัติ ให้ทำประจำสม่ำเสมอ ขยันก็ทำขี้เกียจก็ให้ทำ ไม่ว่าทำแล้วจะสงบหรือฟุ้งซ่าน เมื่อถึงเวลาทำก็ให้ทำต่อไป 

อย่าไปให้ค่ากับความรู้สึกว่า "ทำได้" หรือ "ทำไม่ได้" 
สิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างอย่างแท้จริงคือ "ได้ทำ" หรือ"ไม่ได้ทำ"

 ยิ่งทำตอนขี้เกียจทำ หรือทำไปแล้วฟุ้งซ่านมากแต่ก็ยังคงทำต่อไปด้วยใจที่สบายๆสังเกตการณ์ความคิดแต่ไม่จมไม่เครียดไปกับความฟุ้งความคิด นั่นกลับยิ่งทำให้พัฒนาการได้ไวขึ้น 

แต่ละครั้งที่เราเห็นว่าตัวเองกำลังฟุ้งนั่นคือได้ผ่านชั่วขณะที่จิตเราได้หลุดแยกออกมาจากความคิดก่อนหน้า ... ถ้าสังเกตให้ดี ความคิดก่อนหน้าที่หลุดออกไปนั้นไม่ใช่เราแต่เป็นสิ่งที่ถูกระลึกรู้ .... แล้วถ้าสังเกตให้ลึกลงไปอีกตอนที่หลงแล้วรู้ขึ้นมานั้น "ใครเป็นผู้รู้  ?" ... ทุกครั้งที่ความฟุ้งเกิดขึ้นแล้วระลึกรู้ขึ้นมาได้เป็นการฝึกฝนปัญญาในทางธรรม ให้ใจยอมรับธรรมชาติของชีวิตตามความจริงได้มากขึ้น

จึงขอเอามาบอกแด่ทุกคน ไม่ว่าจะมีเครื่องวัดคลื่นสมองหรือหรือไม่ก็ตาม

ป.ล. ใครสนใจอยากรู้เรื่องคลื่นสมอง เพิ่มเติม อ่านรายละเอียดได้ที่ https://bodhineuro.blogspot.com/2021/07/blog-post_31.html?m=1




ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประสบการณ์การใช้ muse S วัดคลื่นสมอง

สนุกกับการวิเคราะห์คลื่นสมอง

การคิดคะแนนของ Muse

ว่าด้วยเรื่องการเดินจงกรม

บันทึกประจำวันคลื่นสมองด้วย muse ผ่านแอพ mind monitor